Article

 นานาสาระเรื่องเกียร์ออโต้

             คงไม่ต้องกล่าวถึง ตำแหน่งเกียร์ในแต่ละอย่างว่า P, N ,R D, คืออะไรนะครับ ท่านคงหาความรู้ต่างๆได้จากเวบไซด์ทั่วไป , ในส่วนของบทความนี้ผมจะกล่าวในเชิงเทคนิค และ การ ซ่อมเกียร์ออโต้ รวมไปถึง อธิบายข้อมูลบางจุดที่ได้รับรู้คลาดเคลื่อนต่อๆกันมา

             การเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ออโต้ ต้องเปลี่ยนให้ต้องตามที่ผู้ผลิตเกียร์นั้นๆกำหนด, ทำไมใช้แทนกันหรือผสม ต่างยี่ห้อต่างเบอร์กันไม่ได้ ? น้ำมันเกียร์แต่ละยีห้อแต่ละเบอร์จะแตกต่างกันทั้งด้านสารปรุงแต่งที่ผู้ผลิตเติมลงไป และค่าความหนืดที่ถูกต้องก็จะทำให้การเปิดปิดวาล์ว หลอดด้าย (spool valve)  ใน Valve Body เป็นไปอย่างราบรื่น การใช้เบอร์ที่ผิดหรือหนืดเกินอาจทำให้การปิดปิดวาล์ว ช้าและทำให้รถกระตุกใด้ , ค่าความนำไฟฟ้าของตัวน้ำมัน เนื่องจาก Solenoid Valve ต้องแช่อยู่ในน้ำมันเกียร์ และปลั๊กที่เสียบอยู่ที่ตัว Solenoid ก็แช่อยู่ในน้ำมันเกียร์ ถ้าเกิดค่าความนำไฟฟ้า มากเกินกว่ามาตรฐานทำให้กระแสไหลผ่านมาที่ตัว Solenoid เยอะอาจทำให้ Solenoid เสียหายได้ , ไม่ควรใช้น้ำมันเกียร์ออโต้ต่างยี่ห้อผสมกัน ก็ตามเหตุผลข้างต้นเลยครับ.

            ปริมาณ น้ำมันเกียร์ออโต้ แต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน?  เกียร์แต่ละลูกขนาดไม่เท่ากันเป็นผลโดยตรงทำให้ปริมาณน้ำมันเกียร์ที่ใช้ต่างกัน , และการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ยกเกียร์ลงมาซ่อม ก็จะมีน้ำมันเกียร์ค้างอยู่ใน Torque Converter ประมาณ 1-3 ลิตร (ขึ้นอยู่กับขนาดของ Torque Converter) , ที่ร้านผมถ้ายกเกียร์ลงมาซ่อมก็ต้องคว่ำ Torque Converter ให้น้ำมันเก่าออกให้หมด , จะได้มั่นใจว่าหลังจาก Rebuild ไปแล้วน้ำมันในระบบ เป็นน้ำมันใหม่ทั้งระบบ

           ระยะเวลาในการถ่าย น้ำมันเกียร์ออโต้ 40,000  หรือ 80,000 หรือ Life time ? รถยนต์ส่วนใหญ่คิคค้นพัฒนาในต่างประเทศที่อากาศไม่ร้อนเหมือนบ้านเรา ดังนั้น ระยะเวลาในการเปลี่ยน ก็อาจจะ 80,000 หรือบางยี่ห้อ ก็ Lift time (ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเกียร์รายนั้นๆ นิยาม Life Time ของตัวเองไว้กีปี หรือ กี่ กม. เช่น Life Time = 200,000 กม หรือ 500,000 กม) , แต่เมื่อมาอยู่บ้านเราอากาศร้อนชื้นและการจราจรติดขัดอย่างใน กทม คงจะใช้ค่าที่ต่างประเทศกำหนดเห็นจะไม่เหมาะสม , ค่าที่ผมแนะนำครั้งแรกก็น่าจะอยู่ระหว่าง 50,000 – 60,000 กม เพราะครั้งแรกคือน้ำมันใหม่ทั้งระบบที่มาจากโรงงานผลิต , ครั้งที่ 2 ที่ควรจะเปลี่ยน 40,000 กม เพราะการถ่ายครั้งที่สองยังมีน้ำมันเก่าค้างอยู่ใน Torque Converter , Valve Body , เสื้อเกียร์ ดังนั้นมันคือการเจือจางน้ำมันเก่า กับน้ำมันใหม่ , ด้วยเหตุผลดังกล่าวก็ควรจะเปลี่ยนที่ 40,000 กม น่าจะเหมาะสม , แล้วถ้าไม่เปลี่ยนละ ได้หรือไม่ ก็ได้ครับ แต่ สิ่งที่ตามมาคือ เกียร์อาจกระตุกในบางจังหวะนั้นเพราะว่า เศษผงของแผ่นคลัสที่สึกหรอไปในระหว่างการใช้งานปะปนอยู่ในน้ำมันเกียร์ ถึงแม้ว่าจะมีกรองน้ำมันเกียร์อยู่ก็ตาม เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้วเราไม่ได้เปลี่ยนกรองน้ำมันเกียร์ ,ก็จะมีสิ่งสกปรกอุดตันกรองและไม่สามารถกรองเศษผงต่างๆในน้ำมันได้อีกต่อไป

 

นานาสาระเรื่อง ซ่อมเกียร์ออโต้

              บางคนก็ว่าซ่อมไม่ได้ , บ้างก็ว่าซ่อมไม่จบ , บ้างก็ว่าซ่อมแพง , วันนี้ขออธิบายให้ฟังนะครับ . ที่ซ่อมไม่ได้เพราะช่างอาจไม่ชำนาญหรือไม่ได้ ซ่อมเกียร์ออโต้ มาก่อน, ซึ่งการซ่อมเกียร์ออโต้ต้องใช้ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ใขรวมไปถึงการถอดประกอบและเลือกใช้อะไหล่ที่มีคุณภาพรวมไปถึงถ้า Overhaul ก็ต้องเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ให้ลูกค้าด้วย ไม่เห็นแก่กำไรจนมองว่าอะไหล่บางชิ้นไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ดูสภาพยังใช้ได้ เพราะลูกค้าตัดสินใจ Overhaul ก็คาดหวังว่าอยากได้อะไหล่ในเกียร์ใหม่หมดอย่างนี้เป็นต้น

             บางคนก็ว่าซ่อมไม่จบหรอก ถูกบางส่วน!! ถ้าไม่ Overhaul ก็จบยากเว้นแต่ลูกค้าจะรับได้ที่จะแก้ทีละอาการที่แสดงออกมา และยอมรับได้กับค่าแรงยกประกอบซึ่งแน่นอนว่าถ้ารถมันถึงเวลาที่ต้อง Overhaul แล้วแต่ยังฝืนใช้อยู่ ไม่นานชิ้นส่วนอื่นหรืออาการอย่างอื่นก็จะแสดงออกมาให้เห็นอีก ก็จะทำให้มองได้ว่าซ่อมไปแล้วเมื่อ 2-3 เดือนก่อนแล้วต้องมาซ่อมอีกแล้วอย่างนี้เป็นต้น, อีกสาเหตุนึงคือบางอู่บอกลูกค้าว่า Overhaul แต่ไม่ได้เปลี่ยนอะไหล่ให้ครบตามที่มีอยู่ในซุด Overhaul อย่างนี้ก็มี

             บางคนก็ว่าซ่อมแพง , แน่นอนครับการ Overhaul ย่อมแพงกว่ามือสองแน่นอนนั้นเป็นเพราะว่าต้องทำการรื้ออะไหล่เก่าในเกียร์และเปลี่ยนใหม่หมด ต้องเสียทั้งเวลาและเงินในการซื้ออะไหล่ใหม่ที่มีคุณภาพในการประกอบกลับ ,และต้องรับประกันให้ลูำกค้า 1 ปีอีก , เป็นไปไมได้เลยที่การ Overhaul (เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ทุกชิ้นจริงๆตามในชุด Overhaul) จะถูกกว่ามือสอง, ถ้าร้านใหน Overhaul ใด้ถูกกว่ามือสอง ท่านก็ลองคิดดูแล้วกันครับว่ามัน Make Sense หรือเปล่า?

 

นานาสาระเรื่องรถยนต์และการบำรุงรักษา 

         การจะให้รถยนต์ของเราใช้งานได้อย่างเป็นปกติสุขไปตลอดจนสิ้นอายุใขของรถ ,ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการบำรุงรักษาชิ้นส่วนต่างๆตามคู่มือที่แนบมากับรถ ,บางอย่างก็ยึดตามคู่มือได้เลย แต่บางอย่างก็ยึดตามสภาพการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ,ยกตัวอย่างเช่น ของเหลวต่างๆ น้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรค น้ำยาหม้อน้ำ , เมื่อถึงระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยนตามคู่มือ ก็จะต้องเปลี่ยนตามนั้น ,หรือกรองอากาศเปลี่ยนตามพื้นที่การใช้งาน ถ้าอยู่ในพื้นที่ทางฝุ่นก็ต้องเปลี่ยนหรือทำความสะอาดให้เร็วกว่าที่คู่มือกำหนด 

         ในส่วนของเครื่องยนต์สิ่งที่ต้องดูแล หลักๆก็มีอยู่ 3 อย่าง ด้วยกันนั่นก็คือ ระบบการลำเลียงเชื้อเพลิงมาจนถึงห้องเผาไหม้ ไล่มาจากถังน้ำมันก็คือปั๊มติ๊กที่แช่อยู่ในถังน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน จนมาถึงหัวฉีด ถ้าชิ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาชำรุดหรือถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน ก็ให้รีบดำเนินการ เพื่อตัดปัญหาในส่วนนี้ออกไป. ส่วนต่อมาคือส่วนจุดประกายไฟในห้องเผาไหม้ ไล่มาตั้งแต่หัวเทียน คอยล์จุดระเบิด สายไฟต่างๆ ถ้าถึงระยะเวลาที่ต้องเปลี่ยน ก็ให้เปลี่ยนตามนั้น ที่เห็นได้ชัดคือหัวเทียน แต่ละรุ่น แต่ละแบบ จะบอกว่าใช้งานได้กี่กิโลเมตร จะได้ตัดปัญหาในส่วนนี้ออกไป. ส่วนสุดท้ายคือตัวควบคุมอากาศให้เข้าสู่ห้องเผาไหม้ ได้แก่ ปีกผีเสื้อ แอร์โฟ ถ้า 2 อย่างนี้ไม่ได้ทำความสะอาดตามตารางการบำรุงรักษาอาจจะมีผลทำให้เครื่องยนต์ทำงานผิดปกติได้ 

         ในส่วนของช่วงล่างที่จะเกิดการชำรุดเสียหาย ส่วนใหญ่จะเป็นพวกบูทยางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บูชปีกนก ลูกหมากกันโคลง ยางแท่นเครื่อง ยางแท่นเกียร์ เอาง่ายๆก็คือชิ้นส่วนอะไหล่ที่เป็นยางและติดอยู่กับตัวรถ เพื่อรับแรงสั่นสะเทือน เมื่อถึงอายุของมันส่วนที่เป็นยางจะฉีกขาด ก็จะมีเสียงดังอยู่ด้านล่าง ซึ่งก็ควรดำเนินการเปลี่ยนให้เรียบร้อยเพื่อความปลอดภัยในชีวิต 

          หลักใหญ่ใจความ ของการดูแลรักษารถยนต์ ก็คือการบำรุงรักษาตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด , เพื่อป้องกันการวิเคราะห์ปัญหาที่ผิดทิศ ผิดทาง และจำกัดปัญหาให้แคบลง เมื่อรถของเราทำงานไม่เป็นปกติสุขตามฟังก์ชันหน้าที่ในส่วนนั้นๆ